การประชุมความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบ ERASMUS MUNDUS

การประชุมความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กรอบ  ERASMUS MUNDUS

            ระหว่างวันที่ ๔ – ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือภายใต้กรอบ ERASMUS MUNDUS ร่วมกับถาบันคู่สัญญาในยุโรปและเอเชีย โดยกิจกรรมนี้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ

              ๑.  การประชุม ERASMUS MUNDUS & Beyond เป็นการสรุปผลการดำเนินงานภายใต้

โครงการย่อย EXPERTS I

              ๒.  การประชุม EXPERTS-SUSTAIN Kick-off Meeting เป็นการแนะนำโครงการใหม่

           ทั้งนี้ กิจกรรมที่มีการดำเนินการตลอดระยะเวลา  ๔ วัน ประกอบด้วย กิจกรรมหลักๆหลายอย่าง ได้แก่ การประชุมอภิปรายเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการดำเนินการของสถาบันสมาชิกทั้งในยุโรปและเอเชีย  (Learning and Sharing Forum) การพิจารณาเรื่องการดำเนินการกิจกรรมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ERASMUS MUNDUS เพื่อให้คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศต่างๆสมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อรับทุนสนับสนุนประเภทต่าง ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษา บุคลากร เป็นต้น

         ในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กระตุ้นให้คณาจารย์และนิสิตนักศึกษาเห็นความสำคัญของโครงการ EXPERTS และ EXPERTS-SUSTAIN ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนเพื่อการศึกษาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานจากยุโรปและเอเชีย

            หลังจากนั้น ผู้แทนสถาบันการศึกษาของยุโรป ได้ผลัดเปลี่ยนกันให้ข้อมูลที่สำคัญต่างๆ อาทิเช่น  ข้อกำหนด การเตรียมพร้อม เอกสารประกอบการสมัคร พร้อมทั้งแจกเอกสารให้แก่คณาจารย์ นิสิตนักศึกษาที่เข้ารับฟังการบรรยายกว่า ๑๐๐ คน ทั้งนี้หัวข้อการบรรยายประกอบด้วย

  • Erasmus Mundus ในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วยข้อมูลและตัวเลข EACEA นำเสนอข้อสรุปและข้อมูลด้านสถิติของผู้ผ่านการคัดเลือกในภูมิภาคเอเชีย โดย Karolina Garbaliauskaite                                                  ๒          Internationalization of Higher Education in Asia: the Roles in Recognition of Degree and Sustainable Action   โดย Carlos Machado

             ๓.  Erasmus + : Introduction and Perspectives โดย Karolina Garbaliauskaite

           ในภาคบ่าย แบ่งการประชุมกลุ่มย่อยเป็นสองกลุ่ม ในหัวข้อเรื่อง หลักสูตรปริญญาที่เป็นที่นิยมรวมทั้งการจัดหลักสูตรสองหลักสูตรร่วมกัน (Joint Degrees) และ หัวข้อเรื่อง ความยั่งยืน โอกาสในการมีงานทำ และการเพิ่มมูลค่าในการขับเคลื่อนต่างๆ ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญที่ผู้ร่วมสัมมนาได้อภิปรายร่วมกัน

          สำหรับกิจกรรมในวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นกิจกรรมแนะนำโครงการ EXPERTS-SUSTAIN โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทุนศึกษาต่อให้กับคณาจารย์ในคณะต่างๆ นิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นของไทย  โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ประสานงานโครงการนี้ในประเทศไทย ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า ๑๐๐ คน หลังจากนั้นคณะผู้บรรยายพิเศษฝ่ายยุโรป ได้นำผู้สนใจเยี่ยมชมนิทรรศการ ตลอดจนให้คำปรึกษาและตอบคำถามต่าง ๆ อย่างละเอียด

           ในภาคบ่าย Netra Bhandari  ผู้ประสานงานจาก University of Gottingen เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการ EXPERTS I และแนะนำโครงการ EXPERTS-SUSTAIN เพื่อให้ผู้ประสานงานของแต่ละสถาบันการศึกษามีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเตรียมการดำเนินโครงการฯได้  ส่วนกิจกรรมในวันสุดท้ายของการจัดงานคือ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับทุนประเภทต่าง ๆ

             ถึงแม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะมีกำหนดการที่ค่อนข้างแน่น และมีกิจกรรมที่หลากหลาย แต่ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้แทนสถาบันคู่สัญญาจากต่างประเทศก็มีโอกาสสัมผัสบรรยายกาศและเรียนรู้วัฒนธรรมไทยในกิจกรรมวันลอยกระทง ที่จัดขึ้นในคืนวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ สวนนงนุช เมืองพัทยา

 5 4 7313

810 12

facebooktwittergoogle_plus