มก. ต้อนรับเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย

  เมื่อวันอังคารที่ 14 กันยายน 2564 ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัมปนาท เพ็ญสุภา รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รองศาสตราจารย์ ดร.ชไมภัค เตชัสอนันต์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร. นวลพรรณ  สุนทรภิษัช ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดลฤดี ใจสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะเกษตร ดร. กฤษฎาพันธุ์ ผลากิจ คณะวนศาสตร์ และนางสาวอารยา พีชผล ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ ร่วมให้การต้อนรับ นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย และคณะผู้ติดตาม 2 ท่าน ประกอบด้วย Mr. Gantulga Chadraabal, Counsellor และ Dr. Tat Soonthornphisaj ในโอกาสการเยือนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างเป็นทางการ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และหารือความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านต่างๆ

 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งให้ข้อมูลภาพกว้างเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีขนาดใหญ่และมีจำนวนนิสิตนักศึกษามากที่สุดในประเทศไทย และยังเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่บุกเบิกการศึกษาทางด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร อีกทั้งยังมีความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติกับมหาวิทยาลัยและสถาบันชั้นนำในต่างประเทศกว่า 300 แห่งทั่วโลก โอกาสนี้ นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย ได้กล่าวขอบคุณและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างทั้งสองประเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความเป็นเลิศทางด้านงานวิจัยทางการเกษตรและมีชื่อเสียงในระดับสากล จึงมีความสนใจที่จะมีความร่วมมือกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการจัดความร่วมมือระดับอุดมศึกษา วัตถุประสงค์ของการหารือในครั้งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในมองโกเลียและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหลากหลายสาขาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจร่วมกัน อาทิ สาขาเกษตร วนศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงความร่วมมือด้านอื่นๆที่มีศักยภาพเช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) การปศุสัตว์ (livestock) และการเลี้ยงสัตว์ (animal husbandry) อาหารและผลไม้เมืองร้อน (Tropical Foods & Fruit) การชลประทานน้ำ (water irrigation) เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหลากหลายสาขาผ่านการจัดหลักสูตรฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนอาจารย์และนิสิต การวิจัยร่วมและการมอบทุนการศึกษาต่อ รวมทั้งการริเริ่มจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการหรือ MOU ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย จากนั้นที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ และจะได้ติดตามความคืบหน้า รวมทั้งประสานงานกับผู้รับผิดชอบหลักระหว่างสถาบันการศึกษาในมองโกเลียกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อเริ่มต้นกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นนวัตกรรมใหม่ต่อไป จากนั้นนายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย และคณะได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกันกับผู้ลริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้เดินทางไปเยี่ยมชมโครงการวิจัยกัญชาของคณะเกษตร

  มองโกเลียเป็นรัฐอธิปไตย(sovereign state)ที่ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียและจีน มองโกเลียครอบคลุมพื้นที่ 1,553,556 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 18 ของโลกและมีประชากรมากกว่าสามล้านคน มองโกเลียเป็นหนึ่งในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุด โดยภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาถือเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การศึกษาระดับอุดมศึกษาของมองโกเลียประสบกับการขยายตัวที่โดดเด่นตั้งแต่เปลี่ยนจากเศรษฐกิจตามแผนเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดตลาดเมื่อมองโกเลียกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยในปี 2533 ระหว่างปี 2534 ถึง 2560 จำนวนสถาบันอุดมศึกษา (HEI) เพิ่มขึ้นจาก 14 เป็น 95 และ อัตราการเข้าเรียนรวมในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 14.0% เป็น 69.0%

facebooktwittergoogle_plus