ฝึกงานภาคสนาม สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรฯ จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (ภาคพิเศษ) หรือSLUSE ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  จัดกิจกรรมการฝึกงานและเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อการวิจัย ซึ่งเป็นวิชาบังคับของนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต และวิชาเงื่อนไขสำหรับนิสิตหลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต ในระหว่างวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ – วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ พื้นที่ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งนี้ มุ่งเน้นทั้งด้านการเรียนรู้และการปฏิบัติงานไปพร้อมๆกัน โดยการทำวิจัย การพัฒนางานกรณีศึกษา ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนที่ยั่งยืน

ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นิสิตไทยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 12 คน และนิสิตต่างชาติจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ทั้งที่เป็นนิสิตเดนมาร์กและนิสิตแลกเปลี่ยนชาติอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา, โปแลนด์, ฮังการี, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, และเยอรมันนีอีก 20 คน ทั้งนี้ คณะของมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนได้เดินทางมาถึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในวันศุกร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ โดยมีเจ้าภาพต้อนรับคือ สาขาวิชาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้พักค้างคืนที่ หอพักคณะวนวนศาสตร์ KUFF เป็นเวลา ๑ คืน ในวันรุ่งขึ้นได้เริ่มกิจกรรมเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และร่วมกิจกรรมกลุ่มกับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน    จากนั้นคณะทั้งหมดอันประกอบด้วย นิสิตไทย นิสิตต่างชาติ คณะกรรมการฝึกงานภาคสนาม คณาจารย์ ผู้ประสานงาน และคณะผู้แปลภาษา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ออกเดินทางสู่ศูนย์ที่พัก หน่วยจัดการต้นน้ำซองกาเลีย ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ศึกษา คือ พื้นที่ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ตลอดระยะเวลา ๑๒ วัน ตามกำหนดการ คณะวิจัยได้แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม เพื่อลงพื้นที่ศึกษาใน ๔ ชุมชน  ทำการเก็บตัวอย่าง รวบรวมข้อมูลสถิติสำหรับการวิจัย  ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากคณะกรรมการดำเนินงานคือ รศ. ดร. วิพักตร์ จินตนา ประธานคณะกรรมการ, Dr. Thild Bech Brunn และ Dr. Astrid Andersen

พื้นที่ศึกษาชุมชน ประกอบด้วย บ้านห้วยกบ บ้านใหม่ทุ่งนา บ้านประไรโหนก และ บ้านใหม่พัฒนา เนื่องด้วยพื้นที่ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขตพื้นที่ติดชายแดนประเทศเมียนมาร์ ประชากรส่วนใหญ่กว่า ๖๐ เปอร์เซนต์ อพยพมาจากประเทศเมียนมาร์  เชิ้อสายมอญและกระเหรี่ยง ด้วยสถานภาพทางกฏหมายทำให้ประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิพิเศษหรือสวัสดิการบางประการจากรัฐบาล เช่น ประกันสุขภาพ และการศึกษา นิสิตไทยและนิสิตต่างชาติลงพื้นเพื่อศึกษาประเด็นและปัญหาของชุมชน ในเบื้องต้นพบว่า ปัญหาที่ประชาชนในหมู่บ้านเห็นพ้องต้องกันและร้องขอการสนับสนุนจากทางรัฐบาลหรือหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องมากที่สุด คือปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะน้ำเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นแหล่งอาหาร และทำการเกษตร

น.ส. ศิริพักตร์ เสมียนคิด นิสิตระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   เป็นผู้หนึ่งที่ได้ทำการศึกษาชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ศิริพักตร์ให้ความเห็นว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีการใช้พื้นที่ที่หลากหลายและเป็นจังหวัดที่น่าสนใจมาก เธอได้รับประสบการณ์อันมีค่ามากในการลงศึกษาพื้นที่ และเข้าใจวิถีชีวิตของชุมชนชาวมอญในอำเภอสังขละบุรี โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เปิดโอกาสให้นิสิตแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้เทคนิคต่างๆในการทำวิจัย  จากนิสิตหลากหลายประเทศและหลากหลายสาขาวิชา

Leo Jolly มีถิ่นฐานจากเมือง Bordeaux ประเทศฝรั่งเศส ลีโอได้ศึกษาในเมืองแวร์ซายน์ ในสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม ก่อนที่จะเข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยน Erasmus ในประเทศเดนมาร์ก เพราะต้องการที่จะเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย โดยระหว่างการศึกษาในประเทศเดนมาร์ก ลีโอได้เข้าร่วมโครงการการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ลีโอกล่าวว่า เขาต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ วิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ และหลักสูตรการศึกษาใหม่ๆ ลีโอกล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับเขาที่ได้มาทำงานในประเทศไทย ประสบการณ์สำคัญที่เขาได้รับคือการสื่อสาร ทำอย่างไรถึงจะสามารถเรียนรู้และทำงานวิจัยได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ หรือสถานที่ที่เราไม่รู้จักวัฒนธรรม ประพณี และขนบธรรมเนียมต่างๆ มันเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่ทั้งนี้ลีโอเล่าว่า เขาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนไทย ฝีมืองานวาดรูปชิ้นหนึ่งที่ได้ลีโอทิ้งท้ายไว้และมอบให้แก่วัดในชุมชนบ้านใหม่พัฒนาในวันสุดท้ายที่ได้มีการประชุมกลุ่มชุมชน สร้างความประทับใจให้แก่ชาวบ้านทุกคน รวมทั้งนิสิตเพื่อนร่วมงานทั้งหมด ในท้ายที่สุด ลีโอกล่าวประโยคเด็ดว่า “อย่าเศร้าที่งานเสร็จ แต่จงยิ้มกับสิ่งที่มันเพิ่งเริ่ม”

Balãzs Szabolcs Magyar บาลาซ เป็นชาวฮังการี เป็นนิสิตคณะการพัฒนาการเกษตร มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน บาลาซเล่าถึงการเข้าร่วมโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ว่า เพราะเป็นส่วนหนึ่งในสาขาวิชาที่เรียนอยู่ แต่ทั้งนี้ บาลาซพบว่ามันกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นในการเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ของหลักสูตรเป็นการนำทฤษฏีต่างๆที่เรียนมา นำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด และเป็นผลสำเร็จต่อการศึกษา รวมทั้งประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน บาลาซชื่นชมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่สวยงาม ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรี และ อาหารอร่อย เขาได้ทำผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จ พบปะผู้คน ชาวบ้านในท้องถิ่น ที่เขาเล่าว่า เป็นกลุ่มคนที่น่ารักมาก ชาวบ้านต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และต้องการหาความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียงในสภาวะแวดล้อมที่เป็นอยู่ เขารู้สึกประหลาดใจในการที่เห็นชุมชนอันหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ที่อาศัยอยู่ในพื่นที่ศึกษา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขสงบ และแม้จะเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากตัวเมือง ชุมชนบ้านใหม่พัฒนาที่เขาพบเห็น เป็นชุมชนที่ปรองดองใกล้ชิด และผู้คนล้วนแต่เป็นมิตร

จบท้ายบทความนี้ ด้วยอีกส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนร่วมในการทำงานภาคสนามระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ในครั้งนี้ คือ Laura Rosenkvist Hansen ผู้ที่ได้ทำการศึกษาและทำการวิจัยในชุมชนบ้านใหม่ทุ่งนา ลอร่า เป็นชาวเดนมาร์ก นิสิตจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ภาควิชาสังคมวิทยา ได้สรุปการศึกษาและการทำงานในพื้นที่ชุมชนบ้านใหม่ทุ่งนาว่า เธอได้รับประสบการณ์จากการทำงานกับคนจำนวนมาก ซึ่งไม่เคยได้รู้จักหรือร่วมงานกันมาก่อน ได้ใช้เวลาในการทำงาน พูดคุย และรู้จักกัน ภายในระยะเวลา ๑๒ วัน และผู้คนต่างๆเหล่านี้ ก็มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายการทำงานเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ลอร่ากล่าวว่า การได้เห็นหมู่บ้านในประเทศไทย เป็นประสบการณ์ใหม่มากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่เคยศึกษามาก่อน เธอได้รับการต้อนรับอันอบอุ่น เป็นมิตร เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และความปรารถนาที่จะช่วยเหลือ ลอร่าประทับใจที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่ง ต่อการทำงานของกลุ่มนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ ในระยะเวลาทั้งหมดที่ผ่านมา

 

facebooktwittergoogle_plus