มก. ต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย

  เมื่อวันพุธที่ 4 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ชไมภัค เตชัสอนันต์ ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัมปนาท เพ็ญสุภา รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดลฤดี ใจสุทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะเกษตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนพล ไชยแสน รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) คุณวรางคณา พันธุมโพธิ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และกิจการพิเศษ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD) คุณอารยา พีชผล และบุคลากรมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้การต้อนรับผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กรุงเทพ นำโดย Ms. Mary Anne PADUA, the Chargé d’ Affaires พร้อมคณะ ประกอบด้วย Mr. Michael Lyndon GARCIA, First Secretary and Consul, Ms. Joanne Mae ACERO, Attaché, Ms. Nalet M. FULGENCIO, Special Agriculture Representative และ Ms. Marianne MONTECILLO, Agriculture Assistant ในโอกาสเยือนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  วัตถุประสงค์ของการมาเยือนในครั้งนี้ คือการหารือและต่อยอดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา ในสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ผ่านการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ กรุงเทพ โดยดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี กล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลในภาพกว้างเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะผู้แทนจากสถานทูตฟิลิปปินส์ได้รับทราบภาพรวมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และให้ความสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการวิจัยและพัฒนา Smart Agriculture ตลอดจนกิจกรรมและโครงการภายใต้สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) และ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD)

  ที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นทั่วไปและประเด็นเฉพาะต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย (1) การจัดตั้งความร่วมมือทางการวิจัยและวิชาการด้านการเกษตร (2) ความคืบหน้าของโครงการต่อเนื่องระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในฟิลิปปินส์ ทั้งก่อนและหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 (3) การเสริมสร้างแพลตฟอร์มเพิ่มเติมและการพัฒนา Smart Agriculture จากเกษตรดั้งเดิม (Traditional Agriculture) เป็นเกษตรแบบทางเลือกมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมของธุรกิจรุ่นใหม่ (4) เสนอแนวทางความร่วมมือ โดยการพัฒนาเป็นแบบโมดูล (Modules of Training) ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมเกษตร การเกษตรเขตร้อน การปลูกพืชและผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น (5) พัฒนาโมดูล (Modules of Training) ของการฝึกอบรมเหล่านี้ให้แก่นิสิต นักวิจัย และผู้ประกอบการไม่เพียงแต่ในภาคเกษตรกรรม แต่ยังรวมถึงสาขาอื่น ๆ เช่น บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น และขยายไปสู่ธุรกิจชุมชน ทุกคนในชุมชน และจะขยายผลต่อไปในอนาคต จากนั้นการประชุมตามด้วยการถาม – ตอบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อที่น่าสนใจมากมายที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ อาทิ ทำอย่างไรให้เกษตรกรเพิ่มความร่วมมือและเพิ่มรายได้ขึ้น ในปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม ตามมาตรฐานสากล สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นต้องมีคุณภาพดี ไม่ผลิตเกินความต้องการ และให้เกิดมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อความสำเร็จของการพัฒนาการเกษตร ต่อมาคณะได้ไปเยี่ยมชมสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) สถาบันปรับปรุงผลิตภัณฑ์เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเกษตรศาสตร์ (KAPI) และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD) รวมทั้งเยี่ยมชมโรงนม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (KU Dairy Center)

facebooktwittergoogle_plus